เกี่ยวกับโครงการฯ

โครงการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการกองทุนฯที่มีประสิทธิภาพ
เพื่อลดปัญหาภาวะทุพโภชนาการของนักเรียน 


หลักการและเหตุผล
         สำนักงานกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา ได้ดำเนินงานภายใต้การกำกับ ดูแลของคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา โดยการส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาโครงการต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ของกองทุน จัดสรรเงินช่วยเหลือหรือทรัพย์สินอื่นให้แก่โรงเรียนประถมศึกษา โดยคำนึงถึงความจำเป็นแห่งภาวะทุพโภชนาการของเด็กนักเรียน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อคุณภาพ สุขภาพนักเรียนให้มีสุขภาพดีสมวัยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๕๖ เป็นต้นมา  ซึ่งในทุกปีจะมีการนิเทศ ติดตาม ประเมินผล การดำเนินงานของโรงเรียนที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนฯมาอย่างต่อเนื่องอย่างหลากหลายรูปแบบ  เช่น  การลงพื้นที่เชิงประจักษ์ การใช้เครือข่ายเขตพื้นที่ช่วยในการติดตาม การเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถาม  และแบบติดตามการดำเนินงานของโรงเรียนที่ได้รับงบประมาณสนับสนุน ซึ่งจากการประมวล สภาพปัญหาและความสำเร็จการดำเนินงานของโรงเรียนจากการนิเทศ ติดตาม  และการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับภาวะโภชนาการของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในโรงเรียนประถมศึกษา  สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ปีการศึกษา 2558 จำนวน 3,236,404 คน และปีการศึกษา 2559 จำนวน 3,183,239 คน พบว่า นักเรียนยังมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์  คิดเป็นร้อยละ 13.05 และ 11.49  ส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์  คิดเป็นร้อยละ 12.32 และ 9.83 น้ำหนักสูงกว่าเกณฑ์ คิดเป็น ร้อยละ 15.30  และ 16.54 ตามลำดับ (สถิติข้อมูลทางการศึกษา  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีการศึกษา 255๘ และ 255๙) นอกจากนี้ยังพบว่า นักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน  ซึ่งเป็นเด็กกลุ่มด้อยโอกาส  เด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล  ทุรกันดาร พื้นที่เสี่ยง ปี 2558 จำนวน 17,390 คน และปี 2559  จำนวน 19,137  คน มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์  คิดเป็นร้อยละ 5.16 และ5.02 ส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์  คิดเป็นร้อยละ 10.67 และ 8.33 ตามลำดับ (รายงานผลการดำเนินงาน โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชน ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปีการศึกษา2558, 2559)

         นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนส่วนหนึ่งสามารถดำเนินงานบรรลุตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ และมีอีกหลายโรงเรียนที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนไปแล้วแต่ไม่เข้าใจในกระบวนการบริหารจัดการงบประมาณ  หรือการบริหารโครงการให้เกิดผลสำเร็จ ตลอดจนไม่มีแนวปฏิบัติ แนวทางที่ดีในการบริหารจัดการ และนักเรียนในระดับประถมศึกษา ยังมีปัญหาภาวะทุพโภชนาการอยู่ ดังนั้นเพื่อให้การบริหารจัดการกองทุนมีความเข้มแข็งมากขึ้น  มีเครือข่ายระดับเขตพื้นที่การศึกษา ระดับโรงเรียน ในการช่วยลดภาวะทุพโภชนาการของนักเรียน ทางกองทุนฯจึงได้ดำเนินโครงการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการกองทุนฯ ที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดปัญหาภาวะทุพโภชนาการของนักเรียนขึ้นมาเพื่อจะได้นำแนวทางที่ได้มาใช้ในการบริหารจัดการกองทุนฯให้มีประสิทธิภาพต่อไป    

วัตถุประสงค์
1. เพื่อศึกษาสภาพปัญหา ความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการบริหารจัดการกองทุนฯ
2. เพื่อสร้างและนำเสนอแนวทางการบริหารจัดการกองทุนฯที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดปัญหาภาวะทุพโภชนาการของนักเรียน